หลาย ๆ คนอาจเคยได้ยินชื่อยาแก้แพ้ไม่ง่วงกันมาบ้าง แต่ยังสงสัยว่ายาแก้แพ้แบบไม่ง่วงนี่มันไม่ง่วงจริงหรือ แล้วทำไมยาแก้แพ้แบบนี้จึงทำให้ไม่ง่วง มันต่างจากยาแก้แพ้แบบทั่ว ๆ ไปอย่างไร ในบทความนี้เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับยาแก้แพ้ไม่ง่วง และไขข้อข้องใจแบบเจาะลึก
ยาแก้แพ้ไม่ง่วงคืออะไร
ยาแก้แพ้ไม่ง่วงคือยาแก้แพ้ประเภทหนึ่งที่ช่วยลดอาการแพ้ต่าง ๆ ตั้งแต่อาการคัดจมูก จาม น้ำมูกไหล ตลอดจนการมีผื่นคัน ซึ่งตัวยาผ่านการพัฒนาจนมีผลข้างเคียงน้อยและแทบไม่ทำให้เกิดอาการง่วงหลังใช้ สามารถแบ่งยาแก้แพ้ออกเป็น 2 ประเภทได้ ดังนี้
1. ยาแก้แพ้ไม่ง่วง
ยาแก้แพ้ไม่ง่วงหรือยาแก้แพ้รุ่นใหม่ เป็นยาแก้แพ้ในกลุ่ม non-sedating antihistamines ยาแก้แพ้ประเภทนี้จะเข้าสู่สมองได้ยาก และไม่ค่อยจับกับตัวรับฮิสตามีนชนิดเอช-1 จึงทำให้หลังรับประทานยาชนิดนี้ไปแล้วผู้ใช้ยาจะไม่ค่อยเกิดอาการง่วงซึม มีผลข้างเคียงน้อย และเมื่อรับประทานยาไปแล้วครั้งหนึ่งก็จะมีผลยาวนานตลอดวันอีกด้วย
ตัวอย่างยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง เช่น ไบแลสทีน (bilastine) , เฟกโซเฟนาดีน (fexofenadine) และเลโวเซทิริซีน (levocetirizine)
2. ยาแก้แพ้กินแล้วง่วง
ยาแก้แพ้กินแล้วง่วงหรือยาแก้แพ้ดั้งเดิม เป็นยาแก้แพ้ในกลุ่ม conventional antihistamines ยาแก้แพ้ประเภทนี้เข้าสู่สมองง่าย และจับกับตัวรับฮิสตามีนชนิดเอช-1 ได้ในปริมาณมาก ซึ่งมีผลต่อการกดประสาทและทำให้ผู้ใช้ยามีอาการง่วงซึมหลังใช้ยา นอกจากนี้ตัวยายังถูกดูดซึมได้เร็วจึงทั้งออกฤทธิ์เร็วและหมดฤทธิ์เร็วไปพร้อม ๆ กัน
ตัวอย่างยาแก้แพ้แบบกินแล้วง่วง เช่น บรอมเฟนิรามีน (brompheniramine) , ไดเฟนไฮดรามีน(diphenhydramine) และไฮดรอกไซซีน (hydroxyzine)
ยาแก้แพ้ไม่ง่วงกินแล้วไม่ง่วงจริงไหม เพราอะไรจึงกินแล้วไม่ง่วง
ยาแก้แพ้ไม่ง่วงเมื่อกินแล้วไม่ง่วงจริง แต่ก็ไม่เสมอไป นั่นเป็นเพราะว่าร่างกายของคนเราอาจมีปฏิกิริยาต่อยาแต่ละตัวแตกต่างกันนั่นเอง ดังนั้นจึงมีทั้งคนที่กินยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแล้วไม่ง่วงเลย คนที่กินยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแล้วมีอาการง่วงเล็กน้อย และคนที่กินยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแล้วยังง่วงอยู่
สาเหตุที่ทำให้หลังกินยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแล้วไม่ง่วงเป็นเพราะการพัฒนาตัวยาและสารที่เป็นองค์ประกอบในยานั่นเอง โดยยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงจะไม่ค่อยจับกับตัวรับฮีสตามีนชนิดเอช-1 ในสมองซึ่งเป็นตัวรับที่ส่งผลต่ออาการง่วงซึมโดยตรง เมื่อตัวยาแทบไม่จับกับตัวรับฮีสตามีนชนิดเอช-1 จึงส่งผลให้ไม่เกิดอาการง่วง หรือมีโอกาสเกิดอาการง่วงน้อยกว่านั่นเอง
อัตราส่วนที่ทำให้เกิดความง่วงเมื่อยาแก้แพ้จับกับตัวรับฮีสตามีนชนิดเอช-1ในสมอง แบ่งออกเป็น
⦁ ยาแก้แพ้จับกับตัวรับฮีสตามีนชนิดเอช-1 ในสมอง น้อยกว่า 20% ไม่ทำให้มีอาการง่วงซึม
⦁ ยาแก้แพ้จับกับตัวรับฮีสตามีนชนิดเอช-1 ในสมอง ประมาณ 20-50% ส่งผลให้เกิดอาการง่วงซึมเล็กน้อย
⦁ ยาแก้แพ้จับกับตัวรับฮีสตามีนชนิดเอช-1 ในสมอง มากกว่า 50% ทำให้ง่วงซึม
จากข้อมูลในคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่ายาแก้แพ้ไม่ง่วงอย่างไบแลสทีนปริมาณ 20 มิลลิกรัม ไม่ส่งผลให้เกิดอาการง่วงเลย เนื่องจากไม่ถือว่ามีการจับตัวกับฮีสตามีนชนิดเอช-1 เลย ในขณะที่ยาแก้แพ้อย่าง ไดเฟนไฮดรามีนและไฮดรอกไซซีนในปริมาณ 30 มิลลิกรัมเท่ากัน มีการจับตัวกับฮีสตามีนชนิดเอช-1 มากกว่า 50% จึงส่งผลให้ง่วง
ยาแก้แพ้ไม่ง่วงต่างจากยาแก้แพ้ที่กินแล้วง่วงอย่างไร
ยาแก้แพ้ไม่ง่วงต่างจากยาแก้แพ้ที่กินแล้วง่วงหลายประการ ได้แก่
– ยาแก้แพ้ไม่ง่วง กินแล้วไม่ง่วงหรือมีโอกาสง่วงน้อยกว่า
จุดแตกต่างแรกคือหลังใช้ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแล้วผู้ใช้ยาจะมีโอกาสเกิดการง่วงซึมน้อยหรือไม่เกิดเลย เนื่องจากยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงไม่ค่อยผ่านเข้าสู่สมอง จึงไม่ไปกดระบบประสาทและไม่ทำให้ง่วง
– ผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ไม่ง่วงมีน้อยกว่า
จุดแตกต่างข้อต่อมาคือเรื่องของผลข้างเคียงและความปลอดภัย เพราะยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงนั้นไม่ได้ถูกดูดซึมอย่างรวดเร็ว และไม่ค่อยเข้าสู่สมอง จึงไม่พบผลข้างข้างเคียงอย่างอาการตาพร่า ปากแห้ง คอแห้ง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติที่เกิดในยาแก้แพ้แบบกินแล้วง่วงนั่นเอง
โดยผลข้างเคียงของยาแก้แพ้ไม่ง่วงจะเป็นผลข้างเคียงที่พบได้ทั่วไปไม่ว่าจะรับประทานยาแก้แพ้แบบใดก็ตาม เช่น เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หมดแรง ปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย คลื่นไส้ ไอ เป็นต้น
– ยาแก้แพ้ไม่ง่วงออกฤทธิ์ยาวนานกว่า
จุดแตกต่างสุดท้ายคือยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงกินเพียงครั้งเดียวหรือสองครั้งก็ออกฤทธิ์ได้ทั้งวัน ในขณะที่ยาแก้แพ้แบบง่วงถูกดูดซึมอย่างรวดเร็วจึงทำให้ฤทธิ์ยาหมดค่อนข้างเร็วและต้องรับประทานหลายครั้งใน 1 วัน
ข้อควรระวังเมื่อกินยาแก้แพ้ไม่ง่วง
ข้อควรระวังในการใช้ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงได้แก่
⦁ ใช้ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงก็ต่อเมื่อมีอาการแพ้เท่านั้น หากไม่มีอาการให้หยุดยา
⦁ หากกำลังใช้ยาชนิดอื่น ๆ อยู่ให้แจ้งแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง เพราะการใช้ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงร่วมกับยาบางชนิดอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ รวมไปถึงส่งผลง่วงกว่าเดิมอีกด้วย
⦁ ให้สังเกตตัวเองหลังใช้ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วง เนื่องจากความแตกต่างทางพันธุกรรมอาจส่งผลให้บางคนใช้ยาแก้แพ้แบบไม่ง่วงแล้วยังคงง่วงอยู่ได้ ในกรณีที่ใช้แล้วง่วงให้หลีกเลี่ยงการขับรถยนต์ ตลอดจนการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่หากไม่มีสติแล้วอาจก่อให้เกิดอันตราย
⦁ ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ในระหว่างการใช้ยาแก้แพ้ไม่ง่วง เนื่องจากอาจไปรบกวนการทำงานของยาแล้วส่งผลให้มีอาการง่วงแทนได้
เลือกไม่ถูกควรใช้ยาแก้แพ้แบบง่วงหรือไม่ง่วง? ถ้าใช้ยาแก้แพ้ไม่ง่วงควรเลือกตัวไหนดี? อยากซื้อยาแก้แพ้ให้ตรงอาการ
Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพผ่าน LINE Mini App เเละจัดหาตัวแทนไปรับยาร้านขายยามาตรฐานเพื่อนำไปส่งให้ที่บ้านของคุณได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ไร้กังวล
คลิกเพื่อใช้บริการ >> MedCare ปรึกษาเภสัชกรทันที รับยาดีทันใจ
References :
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิง นงลักษณ์ สุขวาณิชย์ศิลป์., ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง…ไม่ง่วงจริงหรือ?., Available from : pharmacy.mahidol.ac.th/th/service-knowledge-article-info-old.php?id=522
ยาแก้แพ้ชนิดไม่ง่วง กินแล้วไม่ง่วงจริงหรือไม่., Available from : https://oryor.com/media/checkSureShare/media_specify/881