Latest Articles

10 อาการปวดจากเล่นกีฬาที่ควรรู้ รักษาและป้องกันได้อย่างไร?

อาการปวดจากการเล่นกีฬา

อาการปวดจากการเล่นกีฬาเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็คงไม่อยากพบเจอ การเล่นกีฬาเพื่อสุขภาพหรือเล่นกีฬาเพื่อความสนุก ถ้ามาบาดเจ็บหรือปวดร่างกายทีหลังก็คงไม่ดีแน่ แต่จะมีแนวทางการป้องกันอย่างไร หรือหากบาดเจ็บไปแล้วจะรักษาอย่างไรให้หายจากอาการบาดเจ็บได้เร็วที่สุด? ทำความรู้จัก 10 อาการปวดจากการเล่นกีฬา แนวทางรักษา และการป้องกันไปพร้อม ๆ กันได้ในบทความนี้

การบาดเจ็บหรือการปวดจากการเล่นกีฬาแบ่งเป็น 2 ประเภท

ลักษณะของอาการปวดจากการเล่นกีฬาสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ประเภทตามวิธีการที่ทำให้เกิดอาการนั้น ๆ ขึ้น ได้แก่

อาการปวดจากการเล่นกีฬาที่เกิดจากการปะทะ (Contact Injury)

ในกรณีที่เป็นการเล่นกีฬาที่มีคนมากกว่า 2 คนเป็นต้นไป ไม่ว่าจะเป็นการเล่นแข่งกับคู่ตรงข้าม หรือการเล่นกีฬาแบบทีม ก็มีโอกาสเกิดการปะทะที่ส่งผลให้เกิดอาการปวดได้จากแรงกระแทกที่ตามมา เช่น การเล่นบาสเก็ตบอล การเล่นฟุตบอล เป็นต้น

อาการปวดจากการเล่นกีฬาที่เกิดจากตนเอง (Non-contact Injury)

อาการปวดจากตนเองอาจเกิดได้จากกีฬาทุกประเภท โดยอาจเกิดจากการขยับตัวที่ผิดจังหวะ การเอี้ยวตัวผิดท่า จนทำให้กล้ามเนื้อ ข้อต่อ หรือเอ็นในบริเวณนั้นอักเสบขึ้นมา เช่น การเล่นกอล์ฟ การเล่นเทนนิส

10 อาการปวด-อักเสบจากการเล่นกีฬาที่พบได้ทั่วไป

อาการปวดและอาการอักเสบที่มักพบในการเล่นกีฬา ได้แก่

1. กล้ามเนื้อบาดเจ็บ (Strain) เป็นอาการที่เกิดจากการหดตัวที่เร็วเกินไปของกล้ามเนื้อหรือใช้กล้ามเนื้อตรงนั้นซ้ำ ๆ มากเกินไปส่งผลให้หลอดเลือดฝอยฉีกขาดจนเกิดอาการอักเสบ มักเกิดจากการเล่นเวทโดยใส่น้ำหนักมากกว่าที่ควร

2. กล้ามเนื้อบวม (Swollen Muscle) เป็นอาการที่เกิดจากการกระแทก ทำให้กล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ บวมช้ำ และมีเลือดออกได้ มักเกิดจากกีฬาที่เน้นการกระแทก เช่น รักบี้

3. เอ็นและข้อต่อบาดเจ็บ (Sprain) เป็นอาการที่เกิดได้จากทั้งการกระแทกและการใช้ข้อต่อบริเวณนั้นผิดท่า จนอาจส่งผลให้เอ็นร้อยหวายฉีก หรือข้อเท้าพลิกได้ ตัวอย่างกีฬาที่อาจส่งผลต่อข้อต่อ เช่น กอล์ฟและฟุตบอล

4. เอ็นร้อยหวายขาด (Achilles Tendon Rupture) เป็นอาการที่รุนแรงมากขึ้นจากแค่เอ็นบาดเจ็บ อาจเกิดจากการกระแทกบริเวณข้อเท้ามากเกินไปจนเกิดการฉีกขาด มักเกิดมากในกีฬาที่ต้องใช้การกระโดดหรือออกตัวเร่งการขยับร่างกายบ่อย ๆ เช่น บาสเก็ตบอลและแบดมินตัน

5. ข้อต่อเคลื่อน ผิดตำแหน่ง (Dislocation) มักเกิดจากอุบัติเหตุต่าง ๆ ในการเล่นกีฬาทำให้ข้อต่อบริเวณต่าง ๆ เช่นไหล่หรือข้อเข่าเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมที่ควรจะเป็น

6. เส้นเอ็นคลุมข้อไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Injury) เกิดจากการใช้แรงบริเวณหัวไหล่เยอะจนเสื่อมสภาพจากการใช้งานหนัก มักเกิดกับกีฬาที่ต้องใช้ไหล่มาก เช่นแบดมินตันและเทนนิส

7. บาดเจ็บที่เข่า (Knee Injury) มักเกิดจากกีฬาที่มีการใช้ข้อเข่ามาก หรือเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเล่นกีฬาจนทำให้กล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นบริเวณเข่าบาดเจ็บ เช่น การเล่นฟุตบอล

8. กระดูกอ่อนข้อเข่าอักเสบ (Runner’s Knee) มักเกิดขึ้นได้บ่อยเมื่อมีการวิ่งในขณะที่ร่างกายไม่พร้อมหรือวิ่งขึ้น-ลงเขาบ่อย ๆ จึงพบมากในผู้ที่เป็นนักวิ่ง

9. บาดเจ็บที่หลัง (Back injury) เกิดได้ในกีฬาหลายชนิดแต่มักพบได้มากในกีฬาที่มีการขยับ เอี้ยวตัว หรือใช้กล้ามเนื้อหลังเยอะเป็นพิเศษ เช่น กอล์ฟ

10. กระดูกหัก (Fractures) โดยมากเกิดจากอุบัติเหตุ การกระแทกต่าง ๆ ส่งผลให้กระดูกข้อต่อต่าง ๆ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า หรือข้อมือหักได้

ระดับความรุนแรงของอาการบาดเจ็บในการเล่นกีฬา

ระดับความรุนแรงสำหรับอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาแบ่งออกได้เป็น 4 ระดับ โดยแต่ละระดับอาจจะเหมาะกับการรักษาที่แตกต่างกันไป

  • อาการบาดเจ็บระดับที่ 1 ทำให้รู้สึกปวดกล้ามเนื้อ แต่ยังไม่มีกล้ามเนื้อบริเวณใดฉีกขาด ยังคงใช้งานได้ใกล้เคียงกับตอนที่ไม่บาดเจ็บ 
  • อาการบาดเจ็บระดับที่ 2 มีอาการปวดและช้ำ กล้ามเนื้อฉีกขาดเล็กน้อย กดแล้วเจ็บ แต่ร่างกายยังพอใช้งานได้ 
  • อาการบาดเจ็บระดับที่ 3 อาการช้ำเห็นได้ชัดกว่าเดิม กล้ามเนื้อฉีกขาดมากขึ้นไปจนถึงระดับปานกลาง ร่างกายขยับลำบาก
  • อาการบาดเจ็บระดับที่ 4 กล้ามเนื้อฉีกขาดออกจากกัน รู้สึกเจ็บมาก ไม่สามารถขยับหรือใช้ชีวิตตามปกติได้

แนวทางการรักษาอาการปวดจากการเล่นกีฬา

การรักษาอาการปวดจากการเล่นกีฬาสามารถแบ่งออกได้เป็น 4 แนวทางหลัก ๆ ดังนี้

รักษาโดยการหยุดใช้กล้ามเนื้อบริเวณที่มีอาการปวด

สำหรับกรณีที่เป็นอาการบาดเจ็บที่ไม่รุนแรง เช่นอาการในระดับที่ 1 อาจรักษาได้โดยการหยุดใช้กล้ามเนื้อหรือข้อต่อบริเวณนั้นเพื่อให้ร่างกายฟื้นฟูขึ้นมาเอง แต่ในระหว่างนั้นอาการปวดก็จะยังคงอยู่ จึงควรใช้วิธีนี้ควบคู่ไปกับวิธีการอื่น ๆ เพื่อให้สามารถบรรเทาอาการปวดจากการเล่นกีฬาได้

รักษาและบรรเทาอาการปวดโดยการใช้ยา

สำหรับกรณีที่มีอาการบาดเจ็บไม่รุนแรงไปจนถึงรุนแรงระดับปานกลาง การรักษาโดยการให้ยาแก้ปวดจะช่วยบรรเทาอาการปวดและอาการอักเสบบริเวณกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น ไปจนถึงข้อต่อนั้น ๆ ได้ โดยอาจจะต้องเลือกยาแก้ปวด-แก้อักเสบที่เหมาะสมกับอาการ

รักษาและบรรเทาอาการปวดโดยการทำกายภาพบำบัด

การรักษาและบรรเทาโดยการทำกายภาพบำบัด มักใช้ในกรณีที่บาดเจ็บรุนแรงปานกลาง ช่วยลดอาการปวดได้ดี และทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้นได้ โดยอาจมีการเข้าเฝือกในบริเวณที่บาดเจ็บอีกด้วย 

รักษาอาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาโดยการผ่าตัด

การผ่าตัดคือแนวทางสุดท้ายสำหรับการรักษาในกรณีที่อาการปวดหรืออาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬารุนแรงมากโดยจะต้องผ่านดุลยพินิจของศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น 

แนวทางการป้องกันไม่ให้บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา

แนวทางการป้องกันไม่ให้บาดเจ็บจากการเล่นกีฬาสามารถทำได้ดังนี้

  • ใส่เครื่องแต่งกายให้เหมาะสมกับการเล่นกีฬา เช่นเลือกรองเท้าที่มีการรองรับการถ่ายเทน้ำหนักได้ดีหากต้องมีการขยับร่างกายสูงอย่างการวิ่งหรือเล่นฟุตบอล
  • วอร์มอัพและคูลดาวน์ ก่อนและหลังการเล่นกีฬาเสมอ เพื่อให้กล้ามเนื้อพร้อมต่อการขยับ
  • อาจมีการใช้อุปกรณ์ป้องกันเสริมเข้าช่วย เช่นสนับเข่า
  • รับประทานอาหารให้ครบห้าหมู่ เน้นเสริมวิตามินและเกลือแร่เพื่อให้กล้ามเนื้อแข็งแรง
  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ
  • ไม่ออกกำลังมากเกินขีดจำกัดของตนเอง และให้เวลาร่างกายได้พักเป็นระยะ

ปวดร่างกายหลังเล่นกีฬา? อยากได้คำแนะนำในการบรรเทา?

Medcare พร้อมให้บริการช่วยให้คุณได้ปรึกษากับเภสัชกรมืออาชีพผ่าน LINE Mini App

คลิกเพื่อใช้บริการ >> MedCare ปรึกษาเภสัชกรทันที


เอกสารอ้างอิง :

10 อาการบาดเจ็บจากการกีฬาที่พบบ่อย และวิธีรักษา, Article from: https://www.sanook.com/health/31553/

อาการบาดเจ็บจากกีฬาโปรด, Article from: https://www.samitivejhospitals.com/th/article/detail/อาการบาดเจ็บจากกีฬา

บาดเจ็บจากเล่นกีฬา รักษาอย่างตรงจุด กับแพทย์เฉพาะทางเวชศาสตร์การกีฬา, Article from: https://kdmshospital.com/article/sports-injuries/