ปวดหัว เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้บ่อยกับมนุษย์หลากหลายช่วงวัย แต่รู้ไหมว่าหากคุณมีอาการดังกล่าวเรื้อรังหลายต่อหลายครั้ง นั่นอาจหมายถึง อาการโรคไมเกรนระยะเริ่มต้น ซึ่งส่งผลต่อสมองโดยตรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหัวตลอดเวลา โดยอาการทั่วไปของไมเกรนคือ มักปวดหัวข้างใดข้างหนึ่งเป็นระยะเวลาต่อเนื่องหลายชั่วโมงหรือหลายวัน
ในวันนี้เราขอให้ความรู้เกี่ยวกับ สาเหตุโรคไมเกรน อาการไมเกรนเริ่มต้น ไปจนถึงวิธีรักษาและป้องกันโรคไมเกรน
สาเหตุของโรคไมเกรน
โรคไมเกรน (Migraine) มีสาเหตุจากความผิดปกติชั่วคราวของระดับสารเคมีในสมอง ส่งผลให้การทำงานของหลอดเลือดแดงในสมองผิดปกติ จนก้านสมองถูกกระตุ้น เส้นเลือดมีการบีบและคลายตัวมากขึ้น และทำให้มีอาการต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป
รวมไปถึงไมเกรนอาจเกิดจากพฤติกรรมบางอย่างของมนุษย์ได้เช่นกัน เช่น ความเครียด นอนหลับไม่เพียงพอ การรับยาบางชนิด หรือฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงขณะมีประจำเดือนในผู้หญิง
5 อาการเริ่มต้นของโรคไมเกรน ที่ควรรู้
ปวดหัว เวียนหัว คลื่นไส้ อาจเป็นอาการทั่วไปที่พบได้บ่อย แต่รู้หรือไม่ว่า ถ้าหากคุณมีอาการเหล่านี้ อาจหมายถึงเริ่มต้นเป็นโรคไมเกรนได้
1. อาการปวดหัวหนึ่งหรือสองข้างของศีรษะ
อาการปวดศีรษะ นับเป็นอาการเริ่มต้นที่สามารถพบได้มากในผู้ป่วยไมเกรน อาจมีอาการปวดทีละข้าง หรือพร้อมกันทั้งสองข้าง โดยอาการดังกล่าวมีสาเหตุจากการทำงานของหลอดเลือดที่บีบและคลายตัวมากผิดปกติจนทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดหัวได้
2. ปวดตา
อาการปวดตา ไม่ได้เป็นอาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยไมเกรนทุกคน อาการนี้อาจมีสาเหตุเช่นเดียวกับอาการปวดหัวไมเกรน ด้วยโครงสร้างของร่างกายมนุษย์ที่เส้นเลือดบริเวณตาและสมองเชื่อมต่อกันทำให้ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการปวดโพรงตาและปวดล้าตานั่นเอง
3. คลื่นไส้อาเจียน
อาการคลื่นไส้อาเจียนเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบเจอได้ในผู้ป่วยไมเกรน เพราะบริเวณก้านสมองมีส่วนที่ควบคุมอาการคลื่นไส้อาเจียนอยู่ อีกทั้งเมื่อผู้ป่วยเกิดอาการไมเกรนกำเริบ สมองของมนุษย์ยังหลั่งสารโดปามีน ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้คลื่นไส้อาเจียนอีกด้วย
4. เห็นแสงที่ออกมาจากสิ่งต่างๆ
อาการนี้มีสาเหตุจากการที่ผู้ป่วยไมเกรนมักไวต่อสีและแสงมากกว่าคนทั่วไป เนื่องจากประสาทตาส่งสัญญาณไปยังสมองทำให้ผู้ป่วยอาจเห็นแสงบางอย่างจากภาพ แสงกะพริบ ภาพต่างๆ เป็นจุดหรือเป็นเส้น โดยอาการนี้มักเกิดขึ้นก่อนปวดหัวประมาณ 5 นาทีถึงหนึ่งชั่วโมง และหายไปภายใน 30 นาที
5. อาการซึมเศร้า หงุดหงิด หรือตื่นเต้น
โรคไมเกรนเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสารเคมีในสมอง ทำให้ผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายคลึงกับผู้ป่วยซึมเศร้า ซึ่งมักจะมีอาการซึมเศร้า หดหู่ หงุดหงิด และตื่นเต้นได้ง่าย
อาการอื่นๆ
นอกจากนี้ผู้ป่วยยังอาจมีอาการอื่นๆ ที่สามารถบ่งบอกได้ถึงโรคไมเกรนระยะเริ่มต้น เช่น
- นอนไม่หลับ
- คัดจมูกหรือน้ำตาไหล
- อยากอาหาร
- ปวดคอ
- ปัสสาวะบ่อย
- หาวบ่อย
- มีอาการชา บริเวณปลายนิ้ว แขน ใบหน้า หรือรอบริมฝีปาก
4 ระยะของโรคไมเกรน
อาการของโรคไมเกรนสามารถแบ่งเป็นระยะต่างๆ ได้ทั้งหมด 4 ระยะ คือ
1. ระยะบอกเหตุล่วงหน้า (Prodrome Stage)
ระยะบอกเหตุล่วงหน้า (Prodrome Stage) คืออาการไมเกรนเริ่มต้น ที่เป็นสัญญาณบอกโรคไมเกรน มีระยะเวลาประมาณ 1-2 วันก่อนเกิดอาการปวดหัว โดยมักมีอาการต่างๆ เช่น อารมณ์แปรปรวน ท้องผูก หิว กล้ามเนื้อคอตึง และหาวบ่อย เป็นต้น
2. ระยะส่งสัญญาณเตือน (Aura Stage)
ระยะส่งสัญญาณเตือน (Aura Stage) เป็นอาการเกี่ยวกับระบบประสาทที่ทำให้ผู้ป่วยรับรู้สัมผัสที่ผิดแปลกไป เช่น มองเห็นภาพบิดเบี้ยว มีแสง เบลอ ฯลฯ รวมถึงไปประสาทสัมผัสด้านกลิ่นและเสียง เช่น ไวต่อกลิ่น ได้ยินเสียงรบกวนหรืออาจมีอาการชาตามร่างกาย โดยระยะเวลานี้เกิดขึ้นเป็นเวลาประมาณ 20 – 60 นาที
3. ระยะแสดงอาการของโรค (Attack Stage)
ระยะแสดงอาการของโรค (Attack Stage) นับเป็นช่วงที่ทรมานมากที่สุด ผู้ป่วยมักมีอาการทั่วไปของโรคไมเกรน ตั้งแต่ปวดหัว ตุบๆ อย่างรุนแรงข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง ไปจนถึงมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
4. ระยะหลังแสดงอาการ (Postdrome Stage)
สุดท้ายคือ ระยะหลังแสดงอาการ (Postdrome Stage) ผู้ป่วยจะค่อยๆ มีอาการดีขึ้น แต่อาจยังอ่อนเพลีย วิงเวียนศีรษะอยู่บ้าง โดยมีสาเหตุเกิดจากความเหนื่อยล้าของสมองหลังปวดศีรษะ ผู้ป่วยจึงไม่ควรขยับตัวฉับพลัน เพราะอาจทำให้เกิดอาการไมเกรนซ้ำได้
วิธีการรักษา
มี 2 วัตถุประสงค์คือ เพื่อบรรเทาอาการ และป้องกันการเกิดอาการ
การรักษาเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ว่ามีความเห็นอย่างไร
1. เพื่อบรรเทาอาการ
เป็นการรักษาโรคไมเกรนที่สามารถบรรเทาอาการได้ในช่วงอาการกำเริบ โดยใช้ยาประเภทต่างๆ เช่น
- ยาแก้ปวด
- ยากลุ่มทริปแทน (Triptan)
- ยากลุ่มเออร์กอต อัลคาลอยด์ (Ergot alkaloids)
2. ป้องกันอาการกำเริบ
แพทย์มักให้ยาเพื่อป้องกันอาการกำเริบ ให้เมื่อผู้ป่วยเริ่มมีอาการไมเกรนตั้งแต่ 4 ครั้งใน 1 เดือนขึ้นไป หรือ มีข้อห้ามต่อการใช้ยาแก้ปวดหัวเฉียบพลัน
- กลุ่มยาต้านอาการซึมเศร้า
- กลุ่มยากันชัก
- กลุ่มยาลดความดัน
- ยาชาฉีด
- ฉีด anti CGRP
สรุป
การศึกษาเกี่ยวกับอาการไมเกรนระยะเริ่มต้น อาจทำให้คุณสามารถรู้เท่าทันโรคร้ายแรงที่จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตได้ หากคุณต้องการป้องกันการเกิดโรคดังกล่าว ก็จำเป็นต้องควบคุมพฤติกรรมที่อาจทำให้เสี่ยงต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคไมเกรน เช่น นอนไม่เพียงพอ เครียด การอยู่ในที่อากาศร้อนหรือเย็นเกินไป การมองแสงจ้า
สำหรับใครที่มีอาการปวดหัว คลื่นไส้ และต้องการรักษาอาการเหล่านี้ สามารถปรึกษาเภสัชกรออนไลน์กับ Medcare เภสัชกรพร้อมให้คำแนะนำและจัดหายาจากร้านขายยาใกล้เคียงเพื่อส่งถึงบ้านคุณใน 1 ชั่วโมง เพียงแอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมที่ https://medcare.asia/