ท้องเสีย หรือ ท้องร่วง (Diarrhea) เป็นอาการสุขภาพทั่วไปที่สามารถพบได้เป็นประจำในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่ทารกไปจนถึงผู้สูงวัย โดยอาการที่มักพบคือ การถ่ายอุจจาระที่มีลักษณะเป็นของเหลว หรือมีความผิดปกติตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปภายใน 24 ชั่วโมง
ซึ่งอาการท้องเสียเหล่านี้สามารถหายได้เองโดยธรรมชาติ หรืออาจจำเป็นต้องได้รับการรักษา และนี่คือสาเหตุ อาการ และวิธีรักษาอาการท้องเสียเบื้องต้นด้วยตนเองง่ายๆ
ท้องเสียเกิดจากอะไร ?
อาการท้องเสีย สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภทย่อยๆ คือ ท้องเสียฉับพลัน และ ท้องเสียเรื้อรัง ซึ่งทั้งสองแบบก็มีสาเหตุการท้องเสียที่แตกต่างกัน ดังนี้
ท้องเสียเฉียบพลัน
ท้องเสียแบบฉับพลัน (Acute diarrhea) คืออาการป่วยที่มีระยะเวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์ โดยเกิดจาก 3 สาเหตุ ได้แก่
- เชื้อไวรัส ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมน้ำและเกลือแร่ลดลง จนอุจจาระมีลักษณะเป็นของเหลวคล้ายน้ำซาวข้าว ไม่มีมูกเลือดเจือปน
- เชื้อแบคทีเรีย ส่งผลให้เกิดอาการที่แตกต่างกันตามเชื้อที่ได้รับ เช่น ทำลายเยื่อบุผิวลำไส้ส่งผลให้มีมูกสีขาวเจือปน เป็นต้น
- สารพิษ หรืออาการท้องเสียที่รู้จักกันในชื่อ อาหารเป็นพิษ ส่งผลให้ร่างกายมีระบบขับถ่ายของเสียผ่านอุจจาระที่มีลักษณะเป็นของเหลวนั่นเอง
ท้องเสียเรื้อรัง
ท้องเสียเรื้อรัง (Chronic diarrhea) มักมีอาการมากกว่า 2 สัปดาห์ และเกิดจากสาเหตุที่หลากหลาย เช่น
- วัณโรค ทำให้เชื้อเติบโตอย่างช้าๆ แต่ใช้ระยะเวลา มักมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยเช่นมีไข้ต่ำ หรือน้ำหนักลดลง
- มะเร็งตับอ่อน หรือตับอ่อนอักเสบ ส่งผลให้ย่อยอาหารยาก ท้องอืด แน่นท้องอุจจาระมีไขมัน
- มะเร็งหรือเนื้องอก ส่งผลให้ลำไส้ผลิตน้ำเยอะขึ้นจนอุจจาระมีลักษณะเป็นของเหลว
- อาการอื่นๆ เช่น ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่มีน้ำย่อยแลคเตส เป็นต้น
อาการท้องเสีย
อาการท้องเสียในผู้ป่วยแต่ละคนมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ตามสิ่งที่รับประทานหรือเชื้อโรคที่ได้รับ โดยอาจมีอาการดังนี้
- ปวดท้อง ปวดเกร็ง หรือปวดบิด
- ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- มีไข้ ปวดศีรษะ
- หน้าแดง และผิวแห้ง
- อุจจาระมีเลือดปน
- อุจจาระมีมูก หรือเมือกปน
- ถ่ายอุจจาระบ่อย
วิธีรักษาท้องเสียเบื้องต้นด้วยตนเอง
อาการท้องเสียในช่วงแรกสามารถรักษาได้ด้วยตนเองถ้าหากผู้ป่วยมีอาการไม่หนักมากนัก เพียงแค่ใช้ยารักษา ไปพร้อมๆกับการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่นน้ำเปล่าสะอาด อาหารปรุงสุก และอาหารย่อยง่าย โดยยาที่สามารถรับประทานเองได้ ได้แก่
- ยาคาร์บอน หรือยาผงถ่าน (Activated Charcoal) เพื่อดูดซับสารพิษที่อยู่ในทางเดินอาหาร ควรกินทุกๆ 3-4 ชั่วโมง จำนวน 2 เม็ดต่อครั้ง แต่ไม่ควรเกินวันละ 16 เม็ด
- ผงเกลือแร่ โอ อาร์ เอส (ORS-Oral rehydration salt) เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำระหว่างท้องเสีย ด้วยการผสมผงเกลือแร่กับน้ำเปล่าในปริมาณที่กำหนด และจิบทีละน้อยจนหมด
- กลุ่มยาหยุดถ่าย เพื่อลดความถี่ในการขับถ่ายอุจจาระถ้าหากยาคาร์บอนและผงเกลือแร่ไม่สามารถรักษาอาการท้องเสียได้ โดยกินครั้งแรก 2 เม็ด และหลังจากนั้นครั้งละ 1 เม็ด ไม่เกิน 8 เม็ดต่อวัน
ทั้งนี้ การรับประทานยาด้วยตนเอง ผู้ป่วยจำเป็นต้องระมัดระวังเรื่องการแพ้ยา เพราะสามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายจนเสียชีวิตได้
อาหารที่ไม่ควรกินเมื่อท้องเสีย
คนไข้ควรระวังการรับประทานอาหารต่างๆ ขณะมีอาการท้องเสีย ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลให้อาการหนักกว่าเดิม โดยอาหารที่ผู้ป่วยไม่ควรกิน ได้แก่
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ รวมถึงน้ำอัดลม โซดา
- อาการสุกๆ ดิบๆ
- อาหารที่ปรุงทิ้งไว้นาน
- อาหารที่มีไขมันสูง เช่น แกงกะทิ น้ำมันจากเนื้อสัตว์ เนย
- อาหารที่มีรสจัด เช่น ส้มตำ ต้มยำ ผัดเผ็ด เป็นต้น
- ผักในตระกูลผักกาด ได้แก่ ผักกะหล่ำ ดอกกะหล่ำ บรอกโคลี
- ผักหรือผลไม้ดอง
- อาหารทะเลไม่สะอาด
- อาหารที่มีกลูเตน
- ถั่ว
- นม
- ไอศกรีม
ท้องเสียแค่ไหนควรไปพบแพทย์ ?
ถ้าหากคุณรักษาอาการท้องเสียเบื้องต้นด้วยตนเอง แต่ร่างกายยังมีอาการเช่นเดิม หรือมีอาการแทรกซ้อนเหล่านี้เพิ่มเติม ควรรีบไปพบแพทย์ ได้แก่
- เวียนศีรษะ
- บ้านหมุน
- เหงื่อแตก
- ใจสั่น
- หน้ามืด
- เป็นลม
- ถ่ายอุจจาระเหลวสีดำ
- ถ่ายอุจจาระมีเลือดสีแดงปน
- ปวดท้องรุนแรงจนท้องแข็งคล้ายแผ่นกระดาน
- ไข้สูง หนาวสั่น
การรักษาท้องเสียโดยแพทย์
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะทำการซักประวัติของคนไข้ เช่น มีการรับประทานอาหารแบบใด ระยะเวลาที่มีอาการ และลักษณะของอุจจาระ หลังจากนั้นจึงให้ยาที่แตกต่างกันตามสาเหตุและอาการ ได้แก่
- ยาปฏิชีวนะ หรือยาถ่ายพยาธิเพื่อกำจัดเชื้อแบคทีเรียและปรสิตที่อยู่ในร่างกายของผู้ป่วย
- ยารักษาเฉพาะอาการ เป็นยาที่ใช้เพื่อรักษาสาเหตุที่แท้จริงของอาการท้องเสีย เช่น โรคลำไส้แปรปรวน โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง และอื่นๆ เป็นต้น
- โปรไบโอติก หรือจุลชีพชนิดดี ที่ช่วยต่อสู้กับเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของอาการท้องเสียที่เกิดขึ้น
สรุป
ท้องเสีย เป็นอาการที่พบเห็นได้ในทุกช่วงวัย ซึ่งคุณสามารถป้องกันอาการดังกล่าวได้จากการระมัดระวังเรื่องสุขอนามัยให้ดี ไม่ว่าจะเป็น การรักษาความสะอาด การรับประทานอาหาร หรือสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไปควรฉีดวัคซีนป้องกันโรตาไวรัส
เมื่อคุณมีอาการท้องเสีย สามารถรักษาเบื้องต้นได้อย่างง่ายดาย โดยทั้งรับประทานยาที่สามารถหาได้ ณ ร้านขายยาทั่วไป หรือถ้าหากต้องการรับยาจากร้านขายยาใกล้บ้านภายใน 1ชั่วโมง สามารถเข้ามาปรึกษาเภสัชกรของเราเพื่อรับยาเพียงแค่แอด LINE https://liff.line.me/1656211307-YZBwnXVm หรือดูรายละเอียดอื่นๆ เพิ่มเติมที่ https://medcare.asia/