อาการ ‘แพ้ยา’ ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ
ถึงแม้ว่า ยา จะเป็นสารเคมีที่สามารถช่วยรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้หายได้เป็นอย่างดี แต่ด้วยส่วนผสมทางเคมีบางชนิดที่ถูกใส่ลงไป จึงทำให้บางคนอาจมีอาการแพ้ยาได้เมื่อได้รับยา ทั้งการรับประทาน ดม ทา หรือฉีด
อาการแพ้ยามีสาเหตุจากภูมิคุ้มกันต่อต้านยาจนทำให้ร่างกายมีปฏิกิริยาบางอย่าง เช่น อ่อนเพลีย ปวดท้อง คลื่นไส้ หรือเกิดผื่นคันบนร่างกาย ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่สามารถพบได้บ่อย
ดังนั้นเราจึงควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ ลักษณะอาการของผู้ป่วยแพ้ยาว่าเป็นอย่างไร ยาแบบไหนที่ผู้ป่วยมักแพ้ วิธีการรักษาอาการแพ้ยา รวมไปถึงข้อมูลด้านการทดสอบการแพ้ยาของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ
ยาที่มักเกิดอาการแพ้
จากการสำรวจพบว่า ยาที่มักทำให้มีอาการแพ้แบ่งได้เป็นหลายกลุ่ม ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละบุคคล เช่น
- ยาปฏิชีวนะ หรือยาฆ่าเชื้อต่อต้านการอักเสบ เช่น เพนิซิลลิน (Penicillin) หรือยาอื่นๆ ที่ใกล้เคียง
- ยารักษาโรคเบาหวาน เช่น อินซูลิน (Insulin)
- ยาลดการอักเสบกลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน (Aspirin)
- ครีม และโลชั่นคอร์ติโคเสตียรอยด์ (Corticosteroid)
- ยารักษาโรคเก๊าท์ เช่น อัลโลพูรินอล (Allopurinol)
- ยาต้านอาการชัก เช่น คาร์บามาซีปีน (Carbamazepine) และลาโมไตรจีน (Lamotrigine)
- ยารักษาโรคแพ้ภูมิตนเอง
- ยารักษาวัณโรค
- ยาเคมีบำบัดผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- ยารักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี
ลักษณะอาการแพ้ยา
อาการแพ้ยาในผู้ป่วยมีความรุนแรงแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปฏิกิริยาของร่างกายแต่ละคนที่ตอบสนองต่อสารเคมีบางชนิด โดยคุณสามารถสังเกตการแพ้ยาได้จากอาการต่างๆ ดังนี้
อาการไม่รุนแรง
- ผื่นขึ้น ลักษณะเป็นผื่นแบนราบ และผื่นนูนสลับกัน
- ลมพิษ ลักษณะเป็นผื่นขอบนูนแดง ขอบเขตไม่ชัดเจน
- คัน บนผิวหนังพร้อมผื่นลักษณะต่างๆ
- ตาหรือปากบวมเล็กน้อย
- มีไข้เล็กน้อย
- มีน้ำมูกคล้ายเป็นหวัด
- คันตาหรือมีน้ำตาไหลออกจากดวงตา
อาการรุนแรง
- มีผื่นลมพิษขึ้นทั่วร่างกาย แขน ขา ลำตัว และใบหน้า
- หายใจลำบาก หายใจเสียงดัง หรือหอบเหนื่อย จากหลอดลมหดตัว
- ปากและลิ้นบวมจนอุดกั้นทางเดินใจ
- คลื่นไส้ อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดท้อง
- ความดันเลือดต่ำลงและช็อก
- วิงเวียนศีรษะ เป็นลม
- ชีพจรเต้นเร็วหรืออ่อนผิดปกติ
- มีอาการชัก
- สูญเสียการรับรู้
- อาจเสียชีวิต
เห็นได้ชัดว่าอาการแพ้ยาอันตรายมากกว่าที่ตาเห็น ดังนั้นก่อนการเดินทางไกล หรือการเข้ารักษาตามโรงพยาบาลต่างๆ ควรมีการเก็บข้อมูลซองยาเก่าที่เคยใช้ ว่าเราแพ้และไม่แพ้ยาประเภทไหน เพื่อให้แพทย์และเภสัชกรสามารถจัดยาให้ตรงกับอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และปลอดภัยกับตัวเราเองมากขึ้น
ทดสอบการแพ้ยา
สำหรับการทดสอบการแพ้ยา ในเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักถามประวัติการใช้ยาและแพ้ยาเบื้องต้น เพื่อประเมินลักษณะอาการแพ้และความรุนแรงของการแพ้ยาจากเวลาที่ใช้ยา เวลาที่เริ่มต้นแพ้ยา อาการของผู้ป่วย และระยะเวลาที่เกิดอาการแพ้
ในปัจจุบันผู้ป่วยสามารถทดสอบการแพ้ยาแต่ละชนิดได้ด้วยวิธีการทางเคมี 2 รูปแบบ ได้แก่
- การทดสอบผิวหนัง ผ่านการสะกิดและฉีดสารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของอาการแพ้ลงไปใต้ผิวหนังด้วยเข็มขนาดเล็ก ถ้าหากเกิดผื่นคัน แดง หรือบวม หมายถึงผู้ป่วยมีอาการแพ้ยาชนิดนั้นๆ แต่ถ้าหากไม่มีปฏิกิริยาใด อาจหมายถึงผู้ป่วยไม่มีการแพ้ยาชนิดนั้น
- การตรวจเลือด เพื่อให้สามารถวินิจฉัยได้ว่า ไม่ได้เป็นอาการที่เกิดจากโรคอื่นๆ แต่การทดสอบในปัจจุบัน มียาที่สามารถใช้ทดสอบได้เพียงเล็กน้อย อีกทั้งยังไม่มีความแม่นยำเมื่อเปรียบเทียบกับการทดสอบทางผิวหนัง การทดสอบการแพ้ยาด้วยการเจาะเลือดจึงไม่ค่อยได้รับความนิยมเท่าไรนัก
วิธีดูแลตนเองเมื่อแพ้ยา
หากคุณพบว่าตนเองมีอาการแพ้ยา สิ่งที่ควรทำอันดับแรกคือ หยุดยาที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของอาการแพ้ยาทันที หากมีลักษณะทางกายภาพ เช่น ผื่นคัน ตาบวม หรือปากบวม ให้ถ่ายรูปเพื่อบันทึกอาการให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญวินิจฉัย เก็บยาที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ยา
จากนั้นควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยไม่ควรซื้อยาแก้แพ้รับประทานเองเพราะอาจทำให้อาการแย่ลงได้ และแพทย์อาจจ่ายยาบางชนิดตามอาการและสาเหตุของยาที่ก่อให้เกิดอาการแพ้เพื่อรักษาอาการ และคุณควรจดจำชื่อยาที่ทำให้แพ้เพื่อแจ้งกับสถานพยาบาลในการรักษาอาการป่วยทุกครั้ง
สรุป
อาการแพ้ยาคือปฏิกิริยาที่สามารถเกิดขึ้นได้กับผู้ป่วยทุกคน ขึ้นอยู่กับภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีต่อยาแต่ละชนิด ไม่ว่าจะเป็นยาปฏิชีวนะ ยารักษาโรคเกาต์ ยากันชัก หรือยาแก้ปวดที่เรากินเป็นประจำอย่าง พาราเซตามอล ดังนั้นคุณจึงควรสังเกตตนเอง และระมัดระวังการซื้อยามาใช้เอง โดยไม่ผ่านผู้เชี่ยวชาญอย่างแพทย์หรือเภสัชกร
ถ้าหากคุณไม่มั่นใจเรื่องวิธีใช้ยา หรือไม่ทราบว่ามีอาการแพ้ยาหรือไม่ MedCare มีเภสัชกรผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการจ่ายยาและให้บริการการจัดหายาจากร้านขายยาใกล้เคียง เพื่อส่งถึงคุณใน 1 ชั่วโมงเพียงแอด LINE https://bit.ly/medcare-miniapp-blog หรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://medcare.asia/